พวกเราต่างจำเป็นต้องยอมรับ การมาเยือนกรุงเทพฯของน้ำ ด้วยความไม่เต็มใจ โกลาหลและอกสั่นขวัญหาย ผมเห็นบางคนหาทางป้องกันเพื่อสู้, บางคนเรียนรู้ที่จะอยู่บ้านกลางน้ำ บ้างต้องยอมจำนนและทิ้งที่อยู่ รวมถึงสัตว์เลี้ยงไปอย่างจนใจ จะว่าไปแล้วเราเองก็ไม่ต่างอะไร กับมดที่กำลังหนีน้ำยังไงยังงั้น ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯในวันนี้ ซาบซึ้งและรู้ดี ถึงอำนาจที่ต้านทานไม่อยู่ ของน้ำทุกๆมวล ที่ทั้งไหลรินและไหลแรง อย่างไม่มีทีท่่าจะหยุดยั้ง ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ให้ข้อคิดหลายๆแง่มุมครับ

เราได้เรียนรู้ว่า บ้านของเราอยู่สูงหรือต่ำกว่า ระดับน้ำทะเล หรือพื้นที่ใกล้เคียง มีความสูงหรือต่ำแค่ไหน จากที่ไม่เคยสนใจเลย

เราได้เข้าใจหลักการของน้ำขึ้นน้ำลง และน้ำทะเลหนุนสูง แม้ว่าบ้านเราจะไม่อยู่ติดแม่น้ำ หรือลำคลองใดๆเลยก็ตาม

เข้าใจระบบการผลิตน้ำประปา การสูบจ่ายน้ำ และคุณภาพน้ำดิบ ที่มีผลต่อการผลิตน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค

รับรู้วิธีการจัดการน้ำ ทั้งของกทม., กรมชลประทาน นักวิชาการ และรัฐบาล ฯ แบบที่มีข้อมูลน่าเชื่อถือ และข้อมูลที่เชื่อถือได้ยาก

เราถูกความจำเป็นบังคับให้ต้อง เตรียมอาหารและน้ำสำรอง จากที่ปกติก็แค่ซื้อกินไปวันๆ

ซึ้งแล้วว่า บ้านที่สองของพ่อแม่, ญาติ, พี่น้อง, เพื่อนสนิท หรือแม้แต่ศูนย์อพยพ เป็นแหล่งพักพิงยามยาก ที่ยังพอมีที่ให้เราซุกหัวนอน

ตระหนักถึงคำว่า “พนังกั้นน้ำ” “เฝ้าระวัง” “กระสอบทราย” “ซิลิโคน” “ครอบครัว” “เพื่อนแท้” “อาหารสำเร็จรูป” “ประกันสาธารณภัย” ฯลฯ

ในยามที่เราต้องเจอภัยพิบัติร่วมกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ คือ คนกรุงเทพฯรักกันมากขึ้น แม้แต่คนต่างจังหวัดที่เข้ามาช่วย ก็รักและห่วงใยกรุงเทพฯด้วยเช่นกัน ผมเห็นคนข้างบ้านที่แทบไม่เคยรู้จัก ได้พูดคุยปรับทุกข์กันมากขึ้น ในหลายพื้นที่ จิตอาสาเกิดขึ้นมากมาย จนผู้ใหญ่หลายคนต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อวัยรุ่น และสังคมออนไลน์ กลายมาเป็นสื่อกลางทางข้อมูล ที่น่าเชื่อถือและสร้างสรรค์สังคม

ผมเชื่อว่าวิกฤตจากน้ำ เป็นวงจรที่เมื่อหลากมาแล้ว ก็จะต้องไหลไปสู่ปลายทางในที่สุด และ Safe House ขอเป็นอีกแรงใจ ที่ยังยืนหยัดอยู่กับคนกรุงเทพฯ ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อครับ