Tourniquet (ทูนิเก้) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวกที่สุด เร็วที่สุด และรักษาชีวิตกำลังพลของเราได้มากที่สุดในสนามรบ เพราะในการรบนั้น สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ คือ การเสียเลือดอย่างรุนแรงจากบาดแผลฉกรรจ์ แต่โชคดีที่การเสียเลือดนั้น เป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ง่ายในสนามรบ มากกว่าเรื่องอื่นๆที่ต้องการการดูแลรักษาที่ซับซ้อน เช่น บาดแผลไฟไหม้รุนแรง, เลือดตกในจากการถูกกระแทก หรรือบาดแผลจากระเบิด เป็นต้น ทหารราบทั่วๆไป ก็สามารถเรียนรู้ที่จะใช้ทูนิเก้ได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการแพทย์มาก่อน

จากประสบการณ์ในสงครามอิรัคของกองทัพสหรัฐได้พิสูจน์แล้วว่า วีธีที่ง่ายที่สุดในการรักษาอาการเสียเลือดจากบาดแผลฉกรรณ์ นั้นก็คือการใช้ ทูนิเก้ (Tourniquet) หรือ สายรัดห้ามเลือด ซึ่งอุปกรณ์เล็กๆนี้ สามารถช่วยชีวิตทหารสหรัฐหลายร้อยหลายพันนาย ให้รอดชีวิตกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยมานักต่อนักแล้ว

ที่มาของสายรัดห้ามเลือด หรือทูนิเก้ ถูกออกแบบมากว่า 300 ปีมาแล้ว เดิมนั้นเพื่อใช้ห้ามเลือดในการผ่าตัด แต่ก็มีบันทึกว่ามันถูกใช้มายาวนานกว่านั้นโดยชนชาติโรมันกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็นชนชาติที่มีวิทยาการทางการแพทย์สูงที่สุด ในยุคของการรบเพื่อครอบครองดินแดน ทูนิเก้ที่ใช้ในการผ่าตัดในยุคนั้น ออกแบบมาให้หยุดเลือดที่เกิดจากแผลบาดเจ็บในสงคราม ก่อนที่จะนำส่งทหารไปจนถึงโรงพยาบาลในสนามรบ และการทำงานของมันก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงหลักการ ไปจากสมัยเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบัน

แต่ก็ยังมีความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับการใช้ทูนิเก้ในสนามรบในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาว่า จะทำให้ต้องตัดแขนขาบ้าง เลือดจะไม่ไปเลี้ยงจนเนื้อเยื่อตายบ้าง ซึ่งมันไม่จริงเลย วิทยาการการแพทย์ในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีอุปกรณ์ใดในสนามรบ จะช่วยชีวิตทหารที่บาดเจ็บในระหว่างปะทะได้ดีไปกว่าการใช้ ทูนิเก้ ที่ออกแบบอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพอีกแล้ว

ความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับทูนิเก้ ที่มักจะเข้าใจกันก็คือ ถ้าใช้มันหยุดการไหลของเลือดบริเวณแขนหรือขาของผู้ป่วย  แขน หรือขาข้างนั้น จะขาดเลือดจนต้องถูกตัดทิ้งไปด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง คุณทราบหรือไม่ว่าในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลต่างๆทั่วโลก มีการใช้ทูนิเก้อยู่ทุกวี่วัน การศึกษาทางด้านการแพทย์ในยุคใหม่ ทั้งในสหรัฐอเมริกา หรือ อิสราเอลแสดงให้เห็นแล้วว่า ทูนิเก้ที่ถูกออกแบบมาอย่างถูกต้องนั้น ไม่ทำให้ต้องตัดแขนและขาของผู้ป่วยแต่อย่างใด ซึ่งเราสามารถใช้รัดและล็อคปลายแขนและขาได้นานมากถึง 2 ชั่วโมงโดยไม่ต้องคลายเชนาะที่ขันไว้เลย

ในชั้นเรียนลูกเสือหรือการปฐมพยาบาลขั้นต้น มักจะสอนกันว่า ให้หาผ้าและใช้ไม้ เพื่อหมุนและขันเชนาะ แสวงเครื่องกันในป่า เมื่อขันเชนาะแล้วต้องผ่อนปมออกทุกๆ 15-20 นาที ให้เลือดได้เดินสะดวก และเนื้อเยื่อจะได้ไม่เน่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้แผลแตกออกหรือคนไข้เกิดการช็อคได้ในภายหลัง ซึ่งจะกลายเป็นทำให้แย่ลงไปกว่าการถูกตัดแขนมากนัก ดังนั้นหากไม่ถึง 2 ชม. และไม่เป็นการกีดขวางการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เราจึงไม่ควรไปปลดเชนาะของทูนิคิตอย่างเด็ดขาด นอกจากแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น

สิ่งที่ควรทำคือเมื่อเริ่มใช้งานทูนิเก้ คือ ควรจะเขียนเวลาที่เริ่มทำไว้ ในทางภาคสนามอาจใช้ปากกาหัวโตเขียนลงบนหน้าผากผู้บาดเจ็บด้วยซ้ำ เพื่อให้โรงพยาบาลหรือบุคคลากรการแพทย์ ทราบประวัติการช่วยเหลือขั้นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้สอนหรือให้ความสำคัญกันเลย

สาเหตุที่แท้จริงของคำกล่าวว่า การใช้ทูนิคิตนั้นจะทำให้ต้องตัดแขน ขา มาจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้ออกแบบมาเฉพาะ หรือ ใช้อุปกรณ์แสวงเครื่องต่างๆ ที่ผิดวิธี เช่น เชือกกล้วย สายยาง ผ้าผืนเล็กเกินไป ดังนั้นในกรณีจำเป็นจะต้องหาอุปกรณ์รอบตัวมาใช้ ควรใช้แถบผ้าหรือเข็มขัดที่มีขนาดใหญ่และกว้างพอ ที่จะสร้างแรงกดไม่ให้เลือดนั้นไหลไปที่บาดแผลได้ ซึ่งแถบที่กว้างนั้นจะสามารถช่วยให้เกิดแรงกดบริเวณเส้นเลือดมากพอ จนลดการไหลเวียนของเลือดลง แต่ไม่เกิดแรงกดเฉพาะจุดที่จะตัดไปที่เส้นเลือดเพียงจุดเดียว เหมือนอย่างการใช้สายยางหรือเชือก ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายบริเวณหลอดเลือด จนต้องตัดขาหรือแขนของผู้ป่วย และต้องตัดเนื้อหรือกระดูกให้สูงจนพ้นจุดที่เนื้อเยื่อตาย หรือจุดที่ใช้สายรัดแบบแสวงเครื่องที่ผิดๆนั้นขึ้นไปอีก ซึ่งไม่มีใครต้องการจะกลายเป็นผู้พิการ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการเช่นนี้แน่ๆ

อีกอุปกรณ์หนึ่งซึ่งนิยมนำมาใช้กันผิดๆก็คือ ท่อสายยางลาเท็กส์ มันถูกออกแบบมาให้ใช้หยุดเส้นเลือดดำ (Venous) ไม่ให้ไหลกลับไปหัวใจ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้หยุดเลือดที่ไหลจากเส้นเลือดแดง (Arterial) ไปสู่แขนขา และเส้นเลือดดำนั้นก็เป็นเส้นเลือกที่อยู่ใกล้บริเวณผิวหนัง มากกว่าเส้นเลือดแดง และมีแรงดันต่ำกว่าเส้นเลือดแดงซึ่งมีสีสดกว่า แรงดันสูงกว่ามาก เส้นเลือดแดงจะอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนัง การใช้สายยยาง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ท่อลาเทกส์จะหยุดไม่ให้เลือดจากเส้นเลือดดำไหลกลับไปยังหัวใจ แต่ปล่อยให้เลือดจากเส้นเลือดแดงนั้น ไหลลงไปยังบาดแผลได้อยู่ดี ผลก็คือ มันจะทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้นกว่าปล่อยไว้เฉยๆ หรือไม่ทำอะไรเลยเสียอีก

สำหรับตำแหน่งที่ควรรัดทูนิเก้ สามารถทำได้สองวิธีก็คือ วิธีแรกเราจะรัดไว้เหนือบาดแผลประมาณ 1 ฝ่ามือหรือ 5 ซม. เพราะต้องการให้ส่วนที่ไม่ได้เสียหายนั้น ยังสามารถรับเลือดได้ปกติ เนื้อเยื่อปกติจึงได้รับเลือดมากที่สุด และตำแหน่งของทูนิเก้ไม่ควรอยู่ใกล้กับข้อต่อกระดูก เข่า หรือศอก เพราะหากรัดเหนือจุดดังกล่าว จะไม่สามารถสร้างแรงกดเพียงพอที่จะหยุดเลือดได้ในบริเวณนั้น อีกทั้งถึงแม้จะกดที่ผิวหนัง แต่เลือดก็ยังสามารถไหลผ่านได้ปกติบริเวณไขกระดูก จึงทำให้การใช้ทูนิเก้ในบริเวณข้อต่อนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร

วิธีต่อมาคือ ใช้ทูนิเก้รัดให้สูงที่สุด เช่น บริเวณโคนแขน แต่ต่ำกว่าซอกรักแร้หรือซอกขา วิธีนี้ใช้เมื่อไม่สามารถตรวจหาตำแหน่งแผลที่ถูกต้องได้ หรือเลือดไหลมากและไม่ต้องการเสียเวลาเปิดบาดแผล เพราะการมาไล่หาแผลฉกรรณ์ที่เสียเลือดมากนั้น มันเป็นการเสี่ยงต่อคนไข้ และเสียเวลาโดยใช่เหตุ เราจำเป็นต้องรักษาเลือดในตัวผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการหยุดเลือด

เมื่อขันเชนาะทูนิเก้แล้ว เราต้องลงเวลาที่ใส่ไว้บนตัวผู้ป่วยด้วย โดยใช้สัญลักษณตัว “T” เป็นอักษรมาตรฐานสากล หมายถึงเวลาที่เราทำการรักษา โดยปกติจะเขียนไว้บนหน้าผากของผู้ป่วย และเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากคือ เราจะไม่ปิดปกคลุมทูนิเก้ด้วยผ้าคลุมหรือผ้าห่มจนมองไม่เห็น เพราะเจ้าหน้าที่การแพทย์จะได้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และทูนิเก้จะคลายออกอีกครั้ง ก็ต่อเมื่อมีผู้ที่ได้รับการฝึกทางการแพทย์ขั้นสูงหรือแพทย์ มาเป็นผู้ถอดออกเท่านั้น

Tourniquet ทูนิเก้ : เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวกที่สุด เร็วที่สุด และรักษาชีวิตของผู้ทำหน้าที่เสี่ยง ต่อการถูกทำร้ายหรือบาดเจ็บได้มากที่สุดในงานภาคสนาม หรือสภาพพื้นที่ที่อันตรายเช่นเดียวกับสนามรบ หวังว่าทหารและตำรวจของเรา จะได้มีใช้กันอย่างแพร่หลายโดยไม่ต้องคอยหาอุปกรณ์แสวงเครื่อง ในช่วงวิกฤตของการบาดเจ็บ เวลาทุกเสี้ยงวินาที หมายถึงชีวิต

เราสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจ ในการใช้งานอุปกรณ์การแพทย์เชิงยุทธวิธี ที่แตกต่างจากอุปกรณ์ปฐมพยาบาลในสภาวะการปกติ อุปกรณ์ช่วยชีวิต มีทั้งความปลอดภัย และอันตรายเหมือนอาวุธ 1.ถ้ามีไว้แต่ไม่ฝึกใช้ ก็ไร้ค่า 2.ถ้ามีของที่ไม่ปลอดภัย ก็นำมาซึ่งความตาย 3.ไม่มีและไม่ศึกษา ก็อาจจะคร่าชีวิตได้

อยากวอนขอให้หน่วยงานทางการแพทย์ ยกเลิกสายยางรัดห้ามเลือดยาว 75 ซม. ออกจากอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำกายทหาร สงสารผู้ที่จะถูกช่วยเหลือเถอะครับ ถ้าจะใช้สายยางรัดเพื่อให้น้ำเกลือก็ทำไปเถอะครับ แต่อย่าเจตนามาใช้เป็นสายรัดห้ามเลือดเลย

น่าเศร้าที่เรามัวเสียงบประมาณและเวลา ไปสนับสนุนการวิจัยทำสายรัดห้ามเลือด จากต้นแบบที่เขาพัฒนาและใช้กันอยู่แล้ว เพื่อหวังจะประหยัด ซึ่งนอกจากหมิ่นเหม่การละเมิดสิทธิบัตร และหากทำได้ไม่ดีจริง ก็จะกลายเป็นเอาชีวิตกำลังพลมาทดลอง สู้ให้สิ่งที่ถูกต้องและได้ผลจริง อย่างน้อยก็ทำบุญนะครับ มองไปยังกองทัพเพื่อนบ้าน เขาพัฒนาศักยภาพอุปกรณ์แพทย์สนามไปไกลกว่าเราแล้วครับ ทราบแล้วเปลี่ยน!

หมายเหตุ : บทความนี้ Safe House และผู้ชำนาญการการช่วยเหลือฉุกเฉินเชิงยุทธวิธี เป็นผู้จัดทำขึ้น หากท่านต้องการข้อมูลทางด้านอุปกรณ์ช่วยชีวิตภาคสนาม กรุณาสอบถามเจ้าหน้าที่ครับ