ปลายเดือนมีนาที่ผ่านมา คนไทยต้องเจอสภาพอากาศแปรปรวน เกิดหน้าหนาวกลางฤดูร้อน บวกด้วยฝนตกน้ำท่วมรุนแรง ในหลายพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้หลายคนเริ่มเตรียมตัวรับมือกับภัย จากสิ่งใกล้ตัวกันมากขึ้น คำถามหนึ่งที่ผมมักจะถูกถาม คือ สัตว์มีพิษที่มากับน้ำท่วม เช่น ตะขาบ, แมงป่อง และ งู ที่หนีน้ำขึ้นบ้านเรือน โดยมากจะเป็นเรื่อง หากถูกงูกัดจะทำอย่างไร เพราะเป็นภัยที่เกิดขึ้นได้ จากการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะการตั้งแคมป์ หรือเดินป่า

ซึ่งข้อมูลการช่วยชีวิตผู้ถูกงูกัด ที่ผมกำลังจะกล่าวถึง เป็นข้อมูลที่หักล้างกับความรู้เดิมๆ ซึ่งเคยบอกว่าให้เปิดปากแผล ดูดพิษงูออก แล้วขันเชนาะไว้ และถ้าทำได้ให้จับงูไปด้วย แล้วจึงนำผู้ถูกกัดส่งโรงพยาบาล ผมเองก็ได้รับการสอนมาแบบนั้นเช่นกัน ในวิชาลูกเสือและวิชา สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) แต่วิธีการดังกล่าวได้ถูกวิทยาการปัจจุบัน พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น หนำซ้ำกลับทำให้บาดแผลเลวร้ายลง จนบางทีถึงกับต้องตัดแขนขาทิ้งกันเลยทีเดียว

เรื่องราวการแก้พิษงู ตามความเข้าใจของคนทั่วไป และผลเสียที่เกิดขึ้น

  • ขันเชนาะ ซึ่งเป็นวิธีที่คนมักจะคิดว่าได้ผล เพราะมันหยุดเลือดไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ แต่อย่าลืมว่า พิษงูไม่ได้เดินทางผ่านทางเส้นเลือดเพียงอย่างเดียว มันสามารถเดินทางผ่านเส้นประสาทใต้ผิวหนังได้ และการกักพิษงู ให้อยู่ที่เดียวกันนานๆโดยขันเชนาะไว้นั้น จะยิ่งทำให้ความเข้มข้นของพิษ ทำลายเนื้อเยื่อในบริเวณนั้นๆเร็วขึ้น จนอาจทำให้เสียแขนหรือขาที่ถูกกัดไปเลย หนำซ้ำการใช้สายรัดห้ามเลือด ที่ไม่ถูกวิธี ยิ่งจะทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกกดไว้เสียหาย กลายเป็นเนื้อตาย บวกกับพิษงูแล้ว ยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ทางที่ดีควรขยับคนไข้ให้น้อยที่สุด และปลอบให้เขาผ่อนคลายลง หรือนอนนิ่งๆ ดีกว่าการขันเชนาะ หรือกักพิษไว้บริเวณใดบริเวณหนึ่งจะดีกว่าครับ และรีบนำส่งโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรีรอ
  • การพยายามหาว่างูชนิดไหน ที่มากัดจนมากเกินไป จะทำให้เสียเวลา แน่นอนว่าถ้าเราเห็นงู และสามารถบอกแพทย์ได้ว่างูชนิดไหนกัด จะช่วยให้ง่ายต่อการรักษา แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การนำผู้ถูกกัดส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งเวลาผ่านไปมาก คนไข้ย่อมมีโอกาสพิการ หรือ เสียชีวิตมากขึ้น และคุณอาจกลายเป็นคนไข้เสียเอง ถ้าถูกงูกัดเข้าอีกคน
  • อย่าพยายามกรีดหรือเปิดบาดแผล ให้พิษงูระบายออกตามเลือดที่ไหล หรือไปบีบเค้น หรือดูดพิษจากบาดแผลด้วยปาก เรื่องนี้คงเห็นกันในละคร ที่พระเอกพยายามช่วยนางเอก หรือนางเอกพยายามช่วยพระเอกด้วยวิธีนี้ ซึ่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ได้ผล และทำให้เนื้อเยื่อเสียหายมากขึ้น จากการซ้ำเติมบาดแผลด้วยการบีบ กรีด เค้นเลือดออกมา และทำให้เกิดการติดเชื้อจากการใช้ปาก หรืออุปกรณ์ดูดพิษงูชนิดต่างๆ ที่ถามหากันมาก ซึ่งไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ว่ามันช่วยลดพิษงูจากบาดแผลได้จริง และเช่นที่ผมบอกไปแล้วครับ อย่าเสียเวลาทำสิ่งที่ไม่ได้ผล รีบพาผู้ถูกกัดส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดดีกว่า

  • การใช้น้ำแข็งประคบเพื่อหยุดพิษงู เรื่องนี้ก็เช่นกันครับ ไม่ได้ช่วยอะไร กลับทำให้เนื้อเยื่อตายจากความเย็นจัด หรืออาการน้ำแข็งกัด (Frost bite) และอย่าลืมว่า เส้นเลือดจะหดจากความเย็นก็จริง แต่น้ำแข็งไม่ใช่เซรุ่มครับ ไม่ส่งผลอะไรต่อพิษงูเลย
  • การใช้ไฟฟ้าช็อตที่แผล ข้อนี้ยิ่งแล้วใหญ่ครับ เชื่อว่าจะทำให้ “พิษตาย” วิธีนี้ทำให้คนไข้ยิ่งทรมาน และยิ่งทำให้ชีพจรเต้นแรง เป็นการเร่งให้พิษเดินเร็วขึ้นไปอีก และพิษงูเป็นสารเคมี ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต มันจึงไม่ตายจากการช็อตด้วยไฟฟ้าอย่างแน่นอน ไม่ได้ผลอย่างสิ้นเชิงครับ

ผมมีกรณีศึกษา สาเหตุหลักของการถูกงูกัดในสหรัฐอเมริกามาเป็นตัวอย่างครับ จากสถิติผู้ที่ถูกงูกัดในสหรัฐอเมริกา พบว่ากว่า 80% เป็นเพศชาย ในจำนวนนั้น 40% ถูกงูกัดในขณะดื่มเหล้ามึนเมา และ 60% ของบริเวณที่ถูกกัดทั้งหมด จะเป็นที่มือครับ แปลง่ายๆได้ว่า คนเมาเหล่านี้ เห็นงูแล้วพยายามจะไปจับ จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ถูกงูกัดเข้าที่มือเป็นส่วนมาก

สถิติที่น่าสนใจอีกข้อคือ ในสหรัฐฯ งูพิษที่กัดคนนั้น ใน 3 ครั้งที่กัด จะมีเพียง 1 ครั้งที่มีการปล่อยพิษออกมา ส่วนอีก 2 ครั้ง พบว่าบาดแผลจะไม่มีพิษงู มีแต่รอยกัดเท่านั้น สาเหตุก็เพราะว่างูพิษนั้น จะใช้พิษของตนในการล่าเหยื่อเพื่อเป็นอาหาร และพิษของงูนั้น เมื่อหมดลงแล้ว กว่าจะสังเคราะห์ขึ้นใหม่ ต้องใช้เวลานาน หมายความว่าหากมันกัดพร่ำเพรื่อ มันจะไม่สามารถหาอาหารได้และอดตาย ดังนั้นงูส่วนใหญ่ที่กัดคน มักกัดเพราะตกใจ ไม่เจตนากัดเพื่อล่าหรือฆ่า จึงไม่ปล่อยพิษเต็มที่ เพราะเป็นการกัดเพื่อป้องกันตัว หรือหากจำเป็นจะปล่อยออกมาไม่มากนัก ซึ่งในภาษาฝรั่งเขาเรียกกันว่า “กัดแห้ง – Dry bite” และหากผู้ถูกกัดไม่มีอาการแพ้พิษงู ก็สามารถรักษาตามอาการได้ทันท่วงที

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่างูกัดแบบไหน คำตอบคือ อย่าไปสนใจครับ จะกัดแบบแห้งหรือไม่แห้ง ก็ให้ปฐมพยาบาลผู้ถูกกัดเหมือนกัน คือนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด อย่าเสียเวลาไปกับการหางู หรือไล่ตีมันให้ตาย หรือพยายามบีบแผลหรือล้างแผลเอง ณ จุดเกิดเหตุ

วิธีปฐมพยาบาลที่ควรจะทำหลังถูกงูกัด

1.พยายามให้คนไข้อยู่ในอาการสงบ หายใจลึกๆ เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ไม่ให้ชีพจรเต้นเร็ว เพื่อไม่ให้พิษงูกระจายสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น แล้วให้รีบนำส่งผู้ถูกกัดไปโรงพยาบาลโดยเร็วครับ

ในขณะที่นำคนไข้ถูกงูกัดส่งโรงพยาบาล

  • อย่างแรกเลยคือคนช่วยต้องใจเย็นครับ ยิ่งไปตื่นเต้น ยิ่งทำให้คนไข้ตื่นตาม ให้ปลอบและพยายามให้คนไข้ ขยับตัวให้น้อยที่สุด ท่าที่ถูกคือให้นอนราบกับพื้น แล้วเคลื่อนย้ายในท่านอน เพราะทำให้หัวใจทำงานน้อยลง ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล ควรทราบว่าสถานพยาบาลนั้นๆ มีเซรุ่มแก้พิษงูหรือไม่ เพราะหากไปผิดที่แล้ว จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากท่านอยู่ในพื้นที่ป่าหรือมีงูอยู่มาก ให้บันทึกเบอร์ติดต่อสถานพยาบาลใกล้เคียงเอาไว้ หรือจะสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ถึงกรณีการถูกงูในบริเวณนั้นๆไว้เป็นความรู้ก็ยิ่งดีครับ
  • เมื่อให้ผูู้ถูกกัดนอนแล้ว ให้ปลดนาฬิกา แหวน หรือสร้อยที่ใส่อยู่ออกให้หมด เพราะเมื่อบริเวณที่ถูกกัดนั้นบวมแล้ว สร้อยหรือสายนาฬิกาจะรัด และถอดออกยากมาก ซึ่งมันจะทำให้เลือดไหลไม่สะดวก ก่อให้เกิดการคั่งของพิษ ให้ผลเดียวกันกับการรัดแบบขันเชนาะ ซึ่งไม่ดีแน่นอนครับ

  • หากเป็นไปได้หรือมีอุปกรณ์ ให้ทำเหมือนเข้าเฝือกบริเวณที่ถูกกัด โดยเข้าเฝือกตั้งแต่ข้อพับบนและข้อพับล่างของบาดแผล เพื่อป้องกันการขยับของกล้ามเนื้อ และจับคนไข้ให้นอนบนเปล กระดานรองหลัง หรือนอนราบบนเบาะรถ ก่อนทำการเคลื่อนย้าย  มันจะช่วยให้คนไข้ไม่ขยับตัวมากเกินไป และง่ายต่อการนำส่ง โดยให้คนไข้นอนวางแขนแนบลำตัวนิ่งๆมากที่สุด
  • แทนที่จะใช้การขันเชนาะ ให้เราชะลอการไหลของพิษ โดยการใช้ผ้าพันแผลแบบยืด พันให้แน่นจนพอตึง เพื่อสร้างแรงกด เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับบาดแผลงูกัด โดยใช้แถบผ้ายาวหรือผ้าพันแผล พันบริเวณเหนือแผล และพันต่อๆกันไปทางหัวใจ ด้วยแรงกดพอเหมาะ ไม่แน่นจนหยุดการไหลของเลือด และไม่หลวมจนไม่เกิดอะไรเลย พันไล่มาจนสุดความยาวผ้า การทำเช่นนี้จะเป็นการชะลอให้เลือดนำพิษเข้าสู่ร่างกายช้าๆ เพื่อการขับออกไปทีละน้อยได้ในภายหลัง หากไม่มีผ้าพันแผลแบบยืด ผ้าที่แนะนำคือผ้ายืดที่ใช้พันข้อของนักกีฬาครับ ผ้าพันนี้จะไม่ถูกแกะออกเลย จนกว่าจะถึงมือแพทย์ที่ทำการรักษานะครับ
  • ระหว่างนำส่ง บริเวณบาดแผลจะเริ่มบวมขึ้นๆ อย่าตกใจ เราสามารถบอกความรุนแรงของพิษได้ ตามอัตราการบวมของมัน สังเกตุได้โดยใช้ปากกาหรือเมจิก ทำเครื่องหมายบริเวณที่เกิดการบวมทุกๆ 15 นาที เราจะสามารถบอกความเร็วของพิษ ที่ไหลเข้าสู่ร่างกาย และความแรงของการทำลายของมัน ว่ามากน้อยหรือรุนแรงเพียงใด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการวินิฉัยของแพทย์ครับ

ผมหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ ในการปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัด จริงอยู่ที่วิธีเดิมๆที่เราเรียนรู้ ยังมีอยู่ในความคิดและความเชื่อ แต่อย่าลืมว่า นั้นเป็นวิธีที่สอนต่อๆกันมาหลายสิบปี จนในปัจจุบันได้มีการทดลอง สรรหาอุปกรณ์ และเก็บตัวอย่างสถิติที่ดีกว่า ดังนั้นเราควรเข้าใจวิธีการ และขั้นตอนในการรักษายุคใหม่เสียแต่วันนี้ครับ

สิ่งที่ง่ายที่สุดแต่สำคัญที่สุด ก็คือการป้องกันไม่ให้งูกัด โดยสวมรองเท้าหุ้มข้อสูง แทนการใส่รองเท้าแตะ หากคุณต้องเดินป่า หรือไปในที่รกๆ และใช้ไม้หรือมีดยาวๆแกว่งไปตามพงหญ้า ในระหว่างเดิน เพื่อไล่งูไปจากทางเดินนั้น และอย่าล้วงหรือขวานหาสิ่งของด้วยมือเปล่า ในที่รกที่มองไม่เห็น เช่น รู หรือใต้ขอนไม้ ฯ

Safe House หวังว่าข้อมูลนี้ จะช่วยให้ท่านเข้าใจ และนำไปปฏิบัติ ให้เกิดความปลอดภัยกับชีวิตคุณและผู้อื่นได้ ติดตามอ่านเรื่องราวความปลอดภัยอื่นๆได้ในบทความหน้าครับ