หนทางรอดชีวิตที่ดีที่สุดในสนามรบ คือ กำจัดศัตรูก่อนที่จะมีการบาดเจ็บสูญเสีย

ในบทความที่แล้ว เราพูดถึงผ้าพันแผลผสมสารห้ามเลือด Combat Gauze ว่าเป็นอุปกรณ์ห้ามเลือดภาคสนามที่มีประสิทธิภาพสูง พิสูจน์แล้วทั้งในห้องปฏิบัติการณ์ และในสนามรบจริง โดยกองทัพสหรัฐฯได้จัดให้เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประจำบุคคล ให้กับทหารราบใช้ประจำตัวในสนามรบ สำหรับกรณีการบาดเจ็บและเสียเลือดอย่างรุนแรง แล้วถ้ามันดีที่สุดจริงๆในการห้ามเลือด ทำไมเรายังเห็นทหารใช้ทูนิเก้กันอยู่ล่ะ?

จากประสบการณ์ในการรบของกองทัพสหรัฐที่โซมาเลีย ได้เปลี่ยนหลักคิดและการปฏิบัติ เรื่องการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในสนามรบ โดยนำบทเรียนการรบชั่วระยะเวลาการปะทะแค่ 15 ชม. ที่ทำให้เสียกำลังพลไปถึง 19 นาย บาดเจ็บอีก 84 นาย ซึ่งในจำนวนนั้น เป็นหน่วยรบพิเศษจากชุด Delta force อีก 6 นาย มาเป็นการดูแลผู้ป่วยในสนามรบ (Tactical Combat Casualty Care – TCCC) โดยแบ่งขั้นตอนออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ

  • การดูแลในระหว่างการปะทะ Care Under Fire
  • การดูแลผู้บาดเจ็บก่อนนำส่้ง Tactical Field Care
  • การเคลื่อนย้ายและนำส่งผู้บาดเจ็บ Tactical Evacuation (TacEvac / CasEvac / MedEvac)

เมื่อวิเคราะห์จากเหตุการณ์ในอดีต นักวิจัยพบว่าทั้ง 3 ขั้นตอนนั้น มีสถานการณ์และการรักษาผู้บาดเจ็บ ที่ไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง

ในหลักการรักษาของทีมกู้ชีพ (EMS) สิ่งแรกที่ต้องทำคือการทำให้แน่ใจว่า ที่เกิดเหตุนั้นปลอดภัยแล้ว ก่อนการเข้าช่วยเหลือที่บาดเจ็บ แต่ในการรบนั้น เราไม่มีทางเลือก การรักษาจำเป็นต้องเกิดขึ้นแม้ขณะที่เกิดการยิงปะทะกันอยู่ เพราะไม่สามารถรอได้ ดังนั้นการรักษาพยาบาลในแบบปกติของทีมกู้ชีพ หรือในโรงพยาบาล จึงไม่สามารถทำได้เลยในสนามรบ เพราะหากใช้หลักการเดียวกัน ผู้ที่บาดเจ็บอาจจะถูกยิงซ้ำ หรือโชคร้ายก็เป็นทีมแพทย์เอง ที่อาจได้รับบาดเจ็บอีกด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโซมาเลีย เพราะแพทย์สนามที่จบการรักษาแบบเดียวกับที่สอนในทีมกู้ชีพ (EMS) นั้นถูกยิงตาย ในขณะที่กำลังช่วยเหลือเพื่อนทหารของเขาอยู่

จุดเกิดเหตุในสนามรบ ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมในการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ

แล้วอุปกรณ์ห้ามเลือดมีความสำคัญอย่างไร? นักวิจัยพบว่า วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาชีวิตทหารในสภาวการณ์รบ คือ การยิงฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นสภาพเสียก่อน ยิ่งจัดการฝ่ายตรงข้ามได้เร็วเท่าไหร่ พวกเราก็ยิ่งมีโอกาสรอดมากขึ้นเท่านั้น ทหารที่ถูกยิงจำต้องใช้ทูนิเก้รัดห้ามเลือด หรือชะลอการเสียเลือดให้ได้มากที่สุดก่อน เพื่อทำให้เขากลับมาทำการตอบโต้ด้วยอาวุธของเขาได้ เพราะหากต้องใช้แพทย์สนามในทีม 1 คน มารักษาคนที่ถูกยิง นั่นหมายความว่า เราเสียกำลังในการยิงไปถึง 2 นาย หากต้องใช้เวลา 5 นาที ในการที่แพทย์สนามต้องกดหยุดเลือดด้วยผ้าพันแผลผสมสารห้ามเลือด นั้นหมายความว่า ในระหว่าง 5 นาทีนั้น ทหารสองคนนั้นไม่สามารถทำการตอบโต้ได้ ซึ่งมันเป็นการเสี่ยงเกินไป ในสนามรบที่อาจเกิดการสูญเสียเพิ่มเติม เพราะอำนาจการยิงที่ไม่เพียงพอ

ในปัจจุบัน มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติ ในการดูแลผู้บาดเจ็บในสนามรบ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอุปกรณ์ทางทหารอยู่ 2 ประเภท คือ 1. ปืนไรเฟิลประจำตัวทหาร เพราะหน้าที่หลักของทหาร คือการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามให้หมดในเวลาที่จำกัด 2.สายรัดห้ามเลือด (ทูนิเก้) เพราะเมื่อหลังจากเราถูกยิงเข้าแล้ว ทหารทุกนายจำเป็นต้องรักษาอาการเสียเลือด จากบาดแผลของตนเองให้เร็วที่สุด ซึ่งอุปกรณ์ที่เร็วที่สุดในการใช้งาน ก็คือ ทูนิเก้ เมื่อรัดแล้วเลือดจะแทบหยุดในทันที แล้วกลับไปยิงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามต่อ จนกว่าจะหมดภัยคุกคาม และเมื่อทุกอย่างปลอดภัยแล้ว แพทย์สนามจึงจะเข้ามาจัดการ รักษาบาดแผลและนำส่งต่อไป เมื่อการปะทะจบลง การรักษาทางยุทธวิธี จึงจะเริ่มขึ้น

การดูแลผู้บาดเจ็บในสนามรบในขั้นนี้นั้น อาจจะดูเหมือนที่ EMS ทำ แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างกันอยู่ โดยมุ่งการรักษาไปที่บาดแผล ที่สามารถทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต มากกว่าจะเป็นขั้นตอนที่ใช้กันในการรักษาพยาบาลในสภาวะปกติ เพราะเจ้าหน้าที่แพทย์สนาม มีหน้าที่แบกปืนสู้กับข้าศึก และรักษาพยาบาลในเวลาเดียวกัน ต้องทำงานแข่งกับเวลา ในทุกๆนาทีที่เสียไปหมายถึง เปอร์เซ็นต์การรอดตายของผู้บาดเจ็บที่ต่ำลง และความเสี่ยงต่อการถูกข้าศึกโจมตีซ้ำอีก ซึ่งหมายถึงการละทิ้งคนเจ็บกลับไปต่อสู้อีกครั้ง

เราจะพูดถึงเรื่องของ TCCC อีกครั้ง ในตอนหน้าครับ ติดตามอ่านต่อนะครับ ในหัวข้อ “สิ่งที่ต้องทำในกระบวนการ TCCC”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่  Safe house.