หนึ่งในสายรัดห้ามเลือด ที่ไม่มีประสิทธิภาพ

จุดเปลี่ยนที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ หันกลับมาทบทวนข้อผิดพลาด และแก้ไขปรับปรุงรูปแบบและขั้นตอนการช่วยชีวิตทหารในสนามรบให้รอดตาย คือเมื่อครั้งที่ทหารอเมริกันเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ ในสงครามโซมาเลีย ทวีปแอฟริกา ช่วงปี 1993 การบาดเจ็บจากการถูกระเบิดแสวงเครื่อง และอาวุธร้ายแรงในระยะประชิด ดังที่เราได้เห็นกันในภาพยนต์ สงครามในโซมาเลียนั้น แตกต่างจากสงครามอื่นๆอย่างมากมายนัก การรบกันบ้านต่อบ้าน ประตูต่อประตู เป็นการรบที่โหดร้ายทารุณและกดดันเป็นอย่างยิ่ง

การรักษาพยาบาลด้วยวิธีการตามรูปแบบการปฐมพยาบาลในภาวะปกตินั้น ไม่สามารถช่วยให้ทหารรอดชีวิตในสภาวะการรบนอกแบบเช่นนี้ ดังนั้นคณะกรรมการการแพทย์ทหารได้ถูกจัดตั้งขึ้น หลังจากทนต่อความสูญเสียชีวิตทหารในขณะปฎิบัติการเป็นจำนวนมากเกินรับได้ ซึ่งเป็นการจัดตั้งชุดผู้ที่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ทางทหารจากหน่วยต่างๆ เพื่อค้นหาหนทางรักษาชีวิตทหารในสงครามยุคใหม่ และได้รายงานทางการแพทย์ออกมาในปี 2003 ก่อนหน้าที่ทหารอเมริกันจะถูกส่งเข้าสู่สงครามอิรัคได้เพียง 1 เดือน

ในรายงานระบุว่ากองทัพควรจัดสรรสายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ ให้เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประจำบุคคล สำหรับทหารทุกนาย แต่โชคร้ายที่การเตรียมการดังกล่าวสายเกินไป ในขณะที่ทหารอีกมากมายต้องเดินเข้าสู่สงครามโดยปราศจากอุปกรณ์ห้ามเลือดที่ พวกเขาควรจะมี บางคนต้องแสวงเครื่องเพื่อทำสายรัดห้ามเลือดในนาทีวิกฤต ซึ่งหลายกรณีที่ไม่สามารถห้ามเลือดและหยุดการตายจากเหตุเสียไหลอย่างรุนแรงได้ และอีกหลายรายได้ต้องเสียชีวิตเพราะห้ามเลือดไม่ทันนั่นเอง
จนในที่สุดกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ออกคุณลักษณะสายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเก้ สำหรับใช้ในสภาวะการรบ โดยกำหนดจากน้ำหนัก, ขนาด และราคา โดยที่ทูนิเก้รุ่นแรกที่ออกมานี้ ไม่เคยได้รับการทดสอบอย่างเพียงพอ ต่อการใช้งานจริง ด้วยความต้องการให้ทหารทุกคนนั้นมีใช้อย่างเร่งด่วน ผลลัพท์ คือยังเกิดความล้มเหลวในการรักษาชีวิตทหารอยู่ดี  เพราะถึงแม้ว่าที่ฐานทัพส่วนหน้าจะมีโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือผ่าตัดและทีมแพทย์มากมาย และมีการนำส่งสายแพทย์ทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์อย่างเร่งด่วน แต่ทหารที่ถูกยิงนั้น กลับเสียชีวิตก่อนที่จะกลับไปถึงมือแพทย์สนามได้ จากการเสียเลือดจากบาดแผลถูกยิงที่บริเวณแขน หรือขา หรือบาดแผลจากการระเบิด จำนวนมากจนตาย แม้จะมีการใช้ทูนิเก้ที่ได้รับแจกมาแล้วก็ตาม หรือบางรายใช้ทูนิเก้แสวงเครื่องเอาเอง แต่มันก็ไม่สามารถทำงานอย่างได้ผลในสถานการณ์จริง ซึ่งต่างจากการฝึกในสภาพที่ไม่มีการปะทะหรือกดดันจากข้าศึก ฝุ่นควัน เสียงระเบิด เสียงร้อง และความสับสนวุ่นวาย ปัจจัยต่างๆในสนามรบ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้การรักษาทหารที่บาดเจ็บ ไม่เป็นไปอย่างที่ได้รับการเรียนรู้มาจากห้องเรียนเลย

สายรัดห้ามเลือดรุ่นต่างๆ CAT Training, CAT, SOFT-Wide, SOFT Gen 2, SOFT Gen 1 Tourniquets

ดังนั้นกองทัพสหรัฐจึงได้เริ่มทำการวิจัยทูนิเก้แบบมาตรฐานขึ้นมา โดยมีการออกแบบภายใต้ข้อจำกัดต่างๆมากมายจากรายงานของทหารในสนามรบ ทั้งต้องมีขนาดที่เล็ก น้ำหนักที่เบา และใช้งานง่าย แม้จะใช้ (หรือว่ายังเหลือ) มือเพียงข้างเดียว ทูนิเก้ก็จะต้องใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ทูนิเก้มาตรฐานนี้ได้รับการบรรจุอยู่ในรหัสอุปกรณ์มาตรฐานแห่งชาติ หรือ NSN และได้ถูกแจกจ่ายให้แก่ทหารสหรัฐทุกคน เพื่อการใช้ปฐมพยาบาลประจำบุคคลอย่างเร่งด่วน แต่ทว่าการออกแบบที่ผิดพลาดหรือการขาดความรู้ที่ถูกต้องในการใช้งานก็แล้วแต่ ทูนิเก้ที่ผ่านการวิจัยรุ่นแรกนั้น มีเปอร์เซ็นการรักษาที่ล้มเหลวสูงมากถึง 80% และก็ยังไม่สามารถห้ามเลือดอย่างได้ผลอยู่ดี ทำให้ทหารหลายนาย ต้องจบชีวิตลงจากความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องนี้จึงถูกนำไปเป็นปัญหาหลักของกองทัพสหรัฐ ซึ่งจัดลำดับเอาการรักษาชีวิตกำลังพล เป็นภารกิจหลักของกองทัพ โดยตั้งทีมพัฒนาและทุ่มเทการวิจัยสายห้ามเลือดรุ่นใหม่อย่างเร่งด่วนและรอบคอบกว่าเดิม เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา, งบประมาณและชีวิตไปอย่างสูญเปล่า จึงได้นำเอาทูนิเก้ที่กองทัพเรือสหรัฐได้พัฒนาล่วงหน้ามาก่อนแล้วในชื่อว่า COTS มาต่อยอด โดยไม่ต้องกลับไปงมเข็มแลกกับชีวิตทหารตัวเองอย่างที่แล้วมา
การทดลองนั้นได้เน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือ การทำให้ทูนิเก้สามารถลดอัตราการไหลของเลือดได้สูงถึง 75% ที่บริเวณแขนขาของผู้ป่วย และอีกประเด็นคือ ทหารต้องสามารถใช้มันได้อย่างถูกต้องภายใต้ความกดดันในสนามรบ ทูนิเก้ต้องมีแถบกว้างไม่ต่ำกว่า 1 นิ้ว เพื่อลดแรงตัดไปที่เส้นเลือดและเนื้อเยื่อของผู้ป่วย ซึ่งหากเนื้อตายจะเป็นสาเหตุให้ต้องตัดอวัยวะทิ้งภายหลัง การทดลองขั้นต่อมาคือ ต้องใช้วัสดุที่สามารถใช้งานได้ในสนามรบ มีทูนิเก้หลายแบบถูกวิจัยขึ้นมา แล้วพบว่าใช้งานได้ดี แต่ต้องโยนทิ้งไปภายหลัง เพราะมันไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมในสนามรบ เช่น สายยาง ท่อลาเท็กซ์ มันจะกรอบตัวลงหลังจากถูกแสง UV และความชื้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้มันขาดในเวลาที่ต้องมัดหรือขันเชนาะ เพื่อเพิ่มแรงกดให้เพียงพอบริเวณขาของผู้ป่วย ซึ่งแก้ไขโดยเก็บไว้ให้ห่างแสงแดด แต่ต้องแลกกับความยากที่จะนำออกมาใช้ หนำซ้ำยังไม่สามารถใช้งานได้ด้วยมือข้างเดียวอีกด้วย  กรณีที่มืออีกข้างใช้การไม่ได้แล้ว หรือต้องเอาปากคาบ และเอาหน้าผากกดจุดที่ผูกไว้ก่อนการขั้นเชนาะ ในสภาพที่น่าเวทนา

สายรัดห้ามเลือด รุ่น SOF Generation 1 ถูกใช้ใน Iraq

มีทูนิเก้ที่ผ่านการทดสอบซ้ำแล้วซ้ำ เล่าเพียงสองแบบเท่านั้น ซึ่งแม้มันจะหยุดเลือดได้ไม่ดีที่สุด แต่มันได้รับการยอมรับว่า มันพร้อมที่สุดในการใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่ในโรงพยาบาล เช่น ในสนามรบ หรือ อุบัติเหตุบนท้องถนน นั้นก็คือ CAT (Combat Application Tourniquet) และ SOFT-T (Special Operation Force Tactical Tourniquet) การทดสอบภาคสนามพบว่า มันสามารถใช้งานได้ง่าย แม้ผู้ใช้จะมีความรู้ทางการแพทย์น้อย หรือไม่มีความรู้เลย อีกทั้งมันยังใช้งานได้ง่ายในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง หรือผู้ใช้มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ทูนิเก้ทั้งสองตัวนั้นมีการใช้งานและหน้าตาเหมือนกัน แต่ CAT นั้นมีแกนขันเชนาะเป็นพลาสติก ในขณะที่ SOFT-T นั้นเป็นโลหะ ซึ่ง CAT ได้ถูกบรรจุให้ทหารสหรัฐทุกคนต้องมีติดไว้ประจำตัว  ในขณะที่ SOFT-T นั้นได้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานประจำตัวหน่วยรบพิเศษสหรัฐ อย่างหน่วย Ranger ของกองทัพบก SEAL ของกองทัพเรือ และ ทีม PJ พลร่มของกองทัพอากาศ รวมไปถึงหน่วยงานชั้นแนวหน้าอื่นๆ เป็นต้น

หลังจากที่ทูนิเก้รุ่นใหม่นี้ได้ถูกทดลองใช้ในสภาพต่างๆกัน อย่างทะเลทรายและในเมือง ก็ยังพบว่ายังมีปัญหาทางด้านการออกแบบอยู่นั้นคือ CAT ที่เป็นแกนพลาสติกนั้นสามารถใช้ได้หลายครั้ง หากเป็นบาดแผลบนแขน แต่ไม่สามารถขันเชนาะได้แน่นพอ ที่จะหยุดเลือดบนบาดแผลที่ขาของผู้บาดเจ็บ กองทัพบกสหรัฐจึงได้แนะนำให้แพทย์สนามนำเอาทูนิเก้แบบ SOFT-T ที่มีแกนทำจากโลหะติดตัวไปเพิ่มเติมในกรณีที่ CAT นั้นล้มเหลว จากการรัดที่ต้องใช้แรงกดมากบริเวณต้นขา ซึ่งจะทำให้แกนพลาสติกแตกได้ หลังจากนั้นกลายเป็นว่า หน่วยอื่นๆในกองทัพสหรัฐได้รับทราบถึงจุดบกพร่องนี้ และทำการสั่งซื้อ SOFT-T มาแจกจ่ายใช้งานเองแทนที่ CAT ซึ่งเป็นพลาสติก อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เมื่อทหารนำเอา CAT มาใช้ฝึกซ้อมปฐมพยาบาลนั้น ก็เป็นอันเดียวกับที่เขาเอาไปรบ ดังนั้นแกนพลาสติกจึงเริ่มบิดงอ จากการซ้อมที่ทำเป็นประจำ และไปหักเอาตอนที่จะใช้งานจริงในสนามรบ เหตุนี้ผู้ผลิตจึงได้ออกแบบ CAT รุ่นสีฟ้า เพื่อใช้ในการฝึกซ้อมเท่านั้น เพื่อทหารจะได้ไม่สับสนเอาตัวซ้อมไปใช้งานจริง แต่ CAT เองก็ยังถูกใช้ในสนามรบในฐานะของทูนิเก้ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และไม่ต้องมาเสียเวลาล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมนำกลับมาใช้ใหม่

SOFT-T ทูนิเก้นั้นมีการออกแบบมาให้ใช้งานได้คงทนกว่ามาก เพราะส่วนสำคัญของมันก็คือ แกนขันเชนาะทำมาจากอลูมิเนียมน้ำหนักเบา และมีความทนทานสูงมาก มันจึงถูกเลือกให้ใช้ทั้งกับบาดแผลบนขาที่หยุดเลือดได้ยากกว่า ซึ่งเป็นจุดที่ต้องใช้ทูนิเก้มากกว่าบริเวณอื่น เช่น บาดแผลจากการถูกยิง, การระเบิดจากกระสุนปืนค. การระเบิดจากระเบิดแสวงเครื่องต่างๆ และการบาดเจ็บจากแขนนั้น สามารถรักษาได้ง่ายกว่าขา โดยใช้เพียงการกดลงบนแผลโดยตรง ก็สามารถหยุดเลือดจากบาดแผลบริเวณแขนได้แล้ว

ในเมื่อ SOFT-T รุ่นแรกออกมาแล้ว บริษัทผู้คิดค้นและจำหน่ายอุปกรณ์ปฐมพยาบาลภาคสนาม อย่าง Tactical Medical Solutions จึงได้นำเอา SOFT-T มาพัฒนาต่อร่วมกับหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ เป็นรุ่น SOFTT-Wide (Special Operations Force Tactical Tourniquet – Wide)  ซึ่ง SOFTT-Wide นั้นได้นำเอาข้อดีของ CAT และ SOFT-T รุ่นแรกมาปรับปรุงและผสมผสานกัน และได้เพิ่มขนาดของแถบรัดขึ้นใหม่ แต่น้ำหนักเบากว่าเดิม ส่วนตัวล็อคก็ถูกออกแบบใหม่ให้มีการป้องกันการปลดหลุดเองโดยไม่ได้ตั้งใจ และมันก็ใช้งานง่ายในการพันรอบแขน หรือขาด้วยมือข้างเดียว หลังจากนั้นหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ ได้นำไปทดลองใช้โดยทันที และต่อมาได้ทำการบรรจุให้เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประจำบุคคลแทนที่ CAT และ SOFT-T โดยทันทีเช่นกัน เนื่องจากใช้งานได้ครอบคลุมกว่า ทหารจึงไม่ต้องมาคอยพกทูนิเก้ทีละสองชนิดอีกต่อไป ซึ่งกองทัพบกสหรัฐเองก็เห็นข้อดีนี้ และกำลังปลดประจำการทูนิเก้และอุปกรณ์ห้ามเลือด ที่ไม่มีประสิทธิภาพรุ่นเดิมทิ้งทั้งหมด และกำลังเปลี่ยนมาใช้รุ่น สายรัดห้ามเลือด รุ่น Wide ด้วยเช่นกัน

สายรัดห้ามเลือด รุ่น SOF Wide

ทูนิเก้ในปัจจุบัน มีการออกแบบให้ดีขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาก และยังคงมีการพัฒนาต่อๆไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เบาขึ้น และใช้ง่ายขึ้นกว่าเดิม สายรัดห้ามเลือดได้ช่วยรักษาชีวิตทหารในอิรัค, อัฟกานิสฐาน และในสงครามต่างๆทั่วโลกเป็นประจำอยู่ในทุกวันนี้ เพราะการพัฒนาจากการเรียนรู้ข้อผิดพลาดในสนามรบ ที่แลกมาด้วยชีวิตทั้งสิ้น บทเรียนของกองทัพสหรัฐเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ไม่ได้ทดสอบทูนิเก้อย่างถูกต้อง แต่กลับข้ามขั้นตอนไปแจกจ่ายให้ทหารนำไปใช้งานจริง ต้องแลกมาด้วยชีวิตทหารฝีมือดีๆที่อาสาไปออกรบมากมาย ซึ่งจริงๆแล้วสมควรจะได้รับโอกาสให้รอดตายและได้กลับบ้าน

สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทเรียนที่กองทัพของเราต้องกลับมาทบทวนและศึกษา เพื่อหยุดการสูญเสียที่ไม่จำเป็น อย่าคิดกันแต่เพียงว่า “บ้านเราก็ยังงี้แหละ ทำใจ” “กองทัพเราไม่รวยเหมือนเขา” หรือจะมีข้ออ้างใดๆ เพื่อใช้เลี่ยงการทุ่มเทและพัฒนา และหันมาถามตัวเองว่า ทำไมเราจะต้องไปซ้ำรอยเดิมของคนอื่น ในเมื่อเขาได้จ่ายราคาบทเรียนแสนแพงไปแล้วด้วยหลายชีวิต

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อุปกรณ์ช่วยชีวิตเชิงยุทธวิธี ได้ที่ Safe House ครับ